Nach Genre filtern

- 35 - ธรรมละนิด : ธรรมะของนักการเมืองTue, 24 May 2022
- 34 - ธรรมละนิด : กำลังใจในการปฏิบัติTue, 03 May 2022
- 33 - ธรรมละนิด : คนดี
คนดีในความหมายของพุทธศาสนาคืออะไร? ที่จริงแล้วไม่ค่อยอยากใช้คำว่า 'คนดี' เพราะว่า 'ความดี' ก็มีเกิดขึ้น ดับไป วันหนึ่งหลายครั้ง อาจจะมี 'ความไม่ดี' เกิดขึ้น ดับไป วันหนึ่งหลายครั้ง ในแต่ละคน เพราะฉะนั้นอาจจะบอกว่า ชาวพุทธเราพยายามให้มีความดีมากขึ้นๆ ให้ความไม่ดีน้อยลงๆ อย่างไรก็ตามคำว่า 'ดี' จะเข้าใจความหมาย ในเมื่อโยงไปถึงสิ่งที่เราถือว่าดีที่สุด มันอาจจะสับสนเหมือนอย่างที่เขาบอกว่า ทุกศาสนาหรือว่าทุกลัทธิสอนให้เราดี นี่มันแปลว่าอะไร มันคืออะไร เพราะว่าในความดีของแต่ละลัทธิแต่ละศาสนา มันไม่ใช่ว่าจะตรงกันทีเดียว มีบางส่วนที่ตรงกัน บางส่วนที่ไม่ตรงกัน บางสิ่งที่บางศาสนาสอนว่าดี ชาวพุทธเราอาจจะไม่ยอมรับว่าดี แล้วบางสิ่งบางอย่างที่ชาวพุทธเราว่าดี บางศาสนาอาจจะไม่ถือว่าดีก็ได้ ฉะนั้นเราจะเข้าใจคำว่าดี โยงไปถึงดีที่สุด ดีที่สุดของเราก็คือ ไม่มีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ดีที่สุดของเราคือถึงพร้อมด้วยปัญญา ด้วยความเมตตากรุณา ด้วยความบริสุทธิ์ ฉะนั้นในความดีของเรา เราทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ที่ทำให้สิ่งไม่ดีในจิตใจเราน้อยลง เรียกว่าดี ที่ทำให้เรามีปัญญามากขึ้น มีความเมตตากรุณามากขึ้นเป็นนิสัย ละจากกิเลสมากขึ้น ก็ถือว่าดี ก็สรุป ดีคือสิ่งที่เอื้อต่อสิ่งที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 12 Apr 2022 - 32 - ธรรมละนิด : อานิสงค์ ศีล ๘
อานิสงส์ของศีล ๘ คืออะไร? อานิสงส์แปลว่า ข้อดี หรือว่าประโยชน์ ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างศีล ๕ ศีล ๘ จะสังเกตว่า ศีล ๕ เกี่ยวกับความดีความชั่วโดยตรง ศีล ๘ นี่ท่านเพิ่มจาก ๕ เป็น ๘ โดยเปลี่ยนข้อ ๓ เป็น อพฺรหฺมจริยา นั้น ก็ไม่ได้มุ่งที่จะป้องกันความชั่วโดยตรง อย่างเช่น การทานอาหารหลังเที่ยง ก็ไม่ได้เกี่ยวกับความดีความชั่ว แต่เหตุผลของการเพิ่มจากศีล ๕ เป็น ศีล ๘ ก็เพื่อเอื้อต่อการภาวนา เอื้อต่อการปฏิบัติ เพราะเป็นศีลของผู้ออกจากเรือน ฉะนั้นเราถือว่าเราเป็น อนาคาริก อนาคาริกา ผู้ออกจากเรือนชั่วคราว ถ้าวันพระเราถือศีล ๘ ก็มีเวลาที่จะไม่ต้องยุ่งกับการทำกับข้าว การกินข้าว การย่อยอาหาร มีเวลาอ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งในวันธรรมดาอาจจะไม่ค่อยมีเวลา ไม่ได้ฟังเพลง ไม่ได้ดูข่าว ไม่ได้เล่นไลน์ คืองดจากสิ่งเหล่านี้ เพื่อจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อเราจะมีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทีนี้พระพุทธองค์ก็เคยตรัสไว้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว จิตใจหลุดพ้นแล้ว จะรักษาศีล ๘ ข้อนี้ โดยธรรมชาติ คือไม่มีเจตนางดเว้น แต่ว่าจิตใจของท่านไม่มีความคิดที่จะละเมิดเลยใน ๘ ข้อ เพราะฉะนั้นเราอาจจะเรียกได้ว่า การถือศีล ๘ นี้เหมือนกับเป็นการฝึกซ้อมเป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระอริยเจ้า เพราะด้วยกาย ด้วยวาจา เรากำลังประพฤติตัวเหมือนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็เป็นการทำความคุ้นเคยกับจิตใจ หรือว่าโดยกิริยาของผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ก็จึง ถือว่ามันเป็นบุญเป็นกุศลอย่างมาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Mar 2022 - 31 - ธรรมละนิด : คำสอนของพระพุทธเจ้า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนของพระพุทธเจ้ามีผลจริง? เริ่มด้วยพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เรามีโอกาสได้กราบ ได้ไหว้ ได้สนทนาด้วย หรือได้ฟังธรรมด้วย เมื่อเราได้สังเกตท่านนานๆ แล้วรู้สึกว่า โอ้...ถ้าเปรียบเทียบกับคนธรรมดานี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ ความแค้น ทำไมแทบจะมองไม่เห็นหรือไม่เห็นเลย แล้วสิ่งดีงามทั้งหลายเห็นในตัวท่านนี่เยอะ แล้วท่านก็ยืนยันว่า ที่ท่านเป็นอย่างนี้มันไม่ใช่ว่าเกิดมาอย่างนี้ เกิดมาเพราะท่านปฏิบัติธรรม อันนี้ก็ท่านเป็นตัวอย่างเป็นพยาน ที่ทำให้เราเกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในเบื้องต้น แต่จากนั้นเราก็ต้องเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ แล้วก็ต้องคอยประเมินผลในชีวิตของเรา ถ้าเมื่อเราปฏิบัติธรรมแล้วก็รู้สึกว่า สิ่งที่ไม่ดีในตัวเราลดน้อยลง สิ่งที่ดีงามเพิ่มมากขึ้น เราก็มั่นใจว่า ถ้าไม่ได้เจอพุทธศาสนา ไม่ได้เจอคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คงไม่เป็นอย่างนี้ เราก็คอยพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 01 Feb 2022 - 30 - ธรรมละนิด : 'ปฏิบัติธรรม' หมายถึงอะไร
‘ปฏิบัติธรรม’ หมายถึงอะไร? คำว่า 'ธรรม' หรือ 'ธรรมะ' มีความหมายหลายนัยเหมือนกัน ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือ ธรรมที่เราได้เรียนมาได้ศึกษามาแล้ว ก็เป็นแค่ความทรงจำ พอเราได้อ่าน ได้ฟัง ได้เรียนแล้ว ต้องนำไปปฏิบัติ พอเป็นการนำไปปฏิบัติ คำสั่งสอนในทางการพัฒนาชีวิตของพระพุทธเจ้า นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่ธรรมก็ยังมีความหมายที่เรียกได้ว่ากว้างที่สุด คือคำว่า 'ธรรม' แปลว่า 'สิ่ง' ธรรมทั้งหลายคือสิ่งทั้งหลาย ถ้ามองในแง่นี้ การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ในทางที่ดีที่สุดหรือทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเราต้องมีความเพียร ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีหรือว่าอกุศลธรรม เข้ามาในจิตใจเราได้ จะต้องวางกาย วางวาจา วางใจอย่างไร เพื่อจะป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น แต่ในเมื่อเราพลาดไป มันก็โกรธเสียแล้ว เครียดเสียแล้ว กังวลเสียแล้ว แล้วการปฏิบัติธรรมตรงนี้ก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะได้ปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ นอกจากนั้นแล้วการปฏิบัติต่อสิ่งที่ดี ที่เรียกว่ากุศลธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะน้อมนำสิ่งที่ดี เข้ามาสู่จิตใจของเราในชีวิตประจำวัน แล้วเมื่อสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นกุศลธรรมเริ่มปรากฏ เราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร เราจึงจะได้เจริญงอกงาม นี่ก็คือชีวิตแห่งความเพียร ที่เรียกว่า 'สัมมาวายามะ' ความเพียรชอบ ในอริยมรรคมีองค์แปดที่เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเวลาเรานั่งสมาธิภาวนา หรือปฏิบัติในรูปแบบ ก็เป็นเรื่องของความเพียร ๔ อย่างเหมือนกัน เช่น เราอยู่กับลมหายใจอย่างไร นิวรณ์หรือกิเลสจะไม่เกิด ถ้ากิเลสเกิดขึ้นแล้วจะจัดการอย่างไร ทำอย่างไรโพชฌงค์ สิ่งดีงามจะเกิดขึ้นในจิตใจ เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไรมันจึงจะเจริญงอกงาม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการทำความเพียรนั่นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 11 Jan 2022 - 29 - ธรรมละนิด : ความโกรธ
เราจะระงับความโกรธได้อย่างไร? ถ้าเราโกรธแล้วแสดงออกทางกาย ทางวาจา เราอาจจะรู้สึกดีสักพักหนึ่ง รู้สึกสะใจ แต่ว่าผลก็คือ ความโกรธในจิตใจของเราจะเพิ่มมากขึ้นแล้วจะทำให้เรายับยั้งชั่งใจต่อไปยากขึ้น ในเบื้องต้นสิ่งแรกก่อนอื่น ก็ต้องงดเว้นจากการแสดงออกทางกาย ทางวาจา ไม่เบียดเบียนใครด้วยกาย วาจา เพราะความโกรธ แต่นั่นก็เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นศีล แต่มีประโยชน์มาก เพราะคนเราจะตกนรก ไม่ใช่ตกนรกเพราะอารมณ์ในจิตใจ ตกนรกเพราะกาย วาจา ฉะนั้นถ้าเราระงับโกรธได้เฉพาะ กาย วาจา ก็ยังถือว่าดีมาก อย่างไรก็ตามในทางจิตใจ เรายังจะต้องปฏิบัติด้วยการสร้างหรือการพัฒนาคุณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับความโกรธ เช่น สติ เช่น ความอดทน เช่น เมตตาธรรม ถ้าเราไม่ทำตามความโกรธและคอยพัฒนาสิ่งตรงข้ามกับความโกรธ จะทำให้ความโกรธลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการปฏิบัติทางจิตใจก็ยังไม่พอ เพราะรากเหง้าของความโกรธอยู่ที่ความคิด เราต้องแก้ด้วยปัญญา โดยเฉพาะ 'โยนิโสมนสิการ' การคิดพิจารณาว่า เรามีความคิดผิดอะไรบ้าง หรือมีความอยากอะไรบ้าง ความโกรธจึงจะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนมากความโกรธเกิดขึ้นเพราะอยากได้อะไรสักอย่าง แล้วไม่ได้สิ่งที่อยาก อยากให้เขาทำอะไร อยากให้เขาพูดอะไร แล้วเขาไม่ทำ เขาไม่พูดอย่างที่ต้องการให้เขาทำ ต้องการให้เขาพูด ต้องการให้เขาเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เขาไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เขาเป็น เราก็โกรธ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นการที่คอยขุดความคิดหรือความอยาก หรือว่าตัวตัณหาที่เป็นเหตุให้เกิดความโกรธนี่ก็สำคัญในการที่จะแก้ปัญหาโดยสิ้นเชิง แต่ความโกรธจะหายจริงๆ ก็หายด้วยวิปัสสนาซึ่งต้องอาศัยการเจริญด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถึงขั้นที่เราเห็นชัดเลยว่า อารมณ์ทั้งหลายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ตรงนี้ที่กิเลสทั้งหลายรวมถึงความโกรธจึงจะดับโดยสิ้นเชิง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 01 Jun 2021 - 28 - ธรรมละนิด : ที่ปรึกษาที่ดี
ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นกำลังใจและที่ปรึกษาที่ดีให้กับคนรอบข้างได้? ทางพระพุทธศาสนาของเรา เราถือว่าการสร้างประโยชน์ตน สร้างประโยชน์ท่านต้องพร้อมๆ กัน คือควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฝึกให้จิตใจตัวเองมีสติ มีกำลัง แล้วจิตใจไม่หวั่นไหวต่อเสียงสรรเสริญนินทา เป็นต้น เป็นผู้ที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ในเมื่อเข้าถึงสภาพวิกฤติหรือว่าคนรอบข้างมีอารมณ์กัน เราก็ต้องเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์กับเขา เราจึงจะเป็นที่ปรึกษาเขาได้ อย่างเช่น พระสงฆ์ก็สามารถเป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษา ของญาติโยมได้ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นผู้ครองเรือน ไม่มีประสบการณ์ตรงในการครองเรือน แต่ว่าฆราวาสก็ยอมรับว่า พระสงฆ์ท่านเป็นกลาง ผู้มีความหวังดี ไม่เข้าข้างใคร เพราะฉะนั้นคำพูดของท่านก็มีน้ำหนัก ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นผู้เป็นกลาง แล้วคำพูดของเราต้องเป็นสุภาษิต คือพูดอะไรต้องเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง พูดให้ถูกกาลเทศะ พูดด้วยความหวังดี พูดด้วยความสุภาพอ่อนโยน ก็ต้องมีปัญญาในการสื่อสารว่า พูดกับคนนี้ต้องพูดอย่างไร บางคนนี่ต้องพูดตรงๆ ไม่พูดตรงๆ ก็ไม่เข้าหู บางคนพูดตรงๆ เขารับไม่ได้ เราก็ต้องดูนิสัยใจคอเขา เราก็ต้องศึกษาพยายามเอาใจเขาใส่ใจเรา ให้เกียรติเขา ถึงแม้เราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาพูด เราก็ต้องเป็นกลาง พยายามถามตัวเองว่า ทำไมเขาจึงจะคิดว่าการกระทำอย่างนี้ หรือการพูดอย่างนี้ถูกต้อง เพราะทุกคนก็ต้องเข้าข้างตัวเองอยู่แล้วว่าเขาถูก เราเห็นว่าไม่ถูก แต่เราก็ต้องพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาจึงคิดว่าเขาถูก เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง เหมือนเป็นคนที่เป็นกลาง แล้วก็เป็นที่ยอมรับว่าเป็นกลาง ทุกคนก็จะหวังว่าเราจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในครอบครัวหรือในชุมชนได้ ก็เป็นผู้ที่ถือธรรมะเป็นหลัก ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ไม่คิดเข้าข้างใคร อุเบกขาต้องเป็นที่ตั้ง แล้วเรามีความหวังดีต่อเขาอย่างแท้จริง เขาเป็นทุกข์ เราก็ต้องการช่วยเท่าที่เราช่วยเขาได้ เมื่อเขาเห็นแล้วเขายอมรับแล้ว เขาก็ต้องยอมให้หรือหวังให้เราจะเป็นที่ปรึกษาเขาได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Jul 2021 - 27 - ธรรมละนิด : หลักฆราวาส
การใช้ชีวิตฆราวาสให้พอดี ควรมีหลักอย่างไร? ถึงแม้ว่าคำว่า ‘พอดี’ เป็นคำธรรมดา ที่ทุกคนรู้จักตั้งแต่เด็ก ก็ยังเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างจะลึกซึ้ง เพราะไม่ว่าในบริบทไหน ก่อนจะกำหนดความพอดี เราต้องตอบคำถามว่า ‘พอดีเพื่ออะไร’ ก็จะต้องมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน แล้วจึงจะได้ประเมินว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ พอดีหรือเอื้อที่สุดต่อการเข้าถึงสิ่งนั้น บางทีคำว่าพอดีอาจจะแปลภาษาอังกฤษว่า ‘optimum’ ก็ได้ อย่างเศรษฐกิจพอเพียง อาตมาก็เคยแปลเป็น optimum economy ไม่ใช่ sufficiency economy ฉะนั้นในชีวิตฆราวาส อะไรคือเป้าหมายชีวิต อะไรคือจุดประสงค์ของผู้ครองเรือน ถ้าเอาง่ายสุดว่า ชีวิตที่มีความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม ทางโลกอาจจะไม่ต้องขยายความมาก แต่ทางธรรม ความเจริญทางธรรมก็น่าจะสรุปง่ายๆ ว่า จะดำเนินชีวิตหรือว่าครองเรือนในลักษณะที่กิเลสในจิตใจลดน้อยลง ทำให้สิ่งดีงามในจิตใจเพิ่มมากขึ้น อย่างนี้อาจจะเป็นหลักการพิจารณาว่า ชีวิตเราพอดีหรือไม่พอดี ถ้าเรารู้สึกว่านับวันกิเลสต่างๆ เพิ่มมากขึ้น คุณธรรมลดน้อยลง ก็คงไม่พอดี เรื่องพอดีก็มี ไม่ถึงพอดี แล้วก็เกินพอดี ส่วนมากชีวิตเรามันจะเกินพอดีมากกว่าไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคอยคิดที่จะปรับวิถีชีวิตของเรา ให้เอื้อต่อความดีความงามของความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Aug 2021 - 26 - ธรรมละนิด : พุทธศาสนากับความสุข
พอพูดถึงพุทธศาสนามักจะได้ยินเรื่องความทุกข์บ่อยๆ อยากรู้ว่าแล้วในแง่ความสุข พุทธศาสนามองความสุขอย่างไร? ที่จริงก็ไม่ใช่ว่าไม่กล่าวถึง ที่จริงคำว่าทุกข์เราอาจจะแปลได้ว่า ภาวะที่ขาดความสุขที่แท้จริง เดี๋ยวหลายคนบอกว่าไม่เห็นมีความทุกข์อะไร ถ้าเราแปลอย่างนี้ก็ตอบเขาได้ว่า อ้าว...แสดงว่าคุณเข้าถึงความสุขที่แท้จริงแล้วเหรอ ไม่ เขามีความสุขแบบกระท่อนกระแท่น ความสุขผิวเผิน แต่พุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ความสุขมีหลายประเภท หลายระดับ แล้วความสุขที่เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณที่เรียกว่า กามสุข ความสุขทางเนื้อหนัง เกิดจากการกระตุ้นประสาทต่างๆ เป็นความสุขที่มีข้อบกพร่องมาก มีเงื่อนไขมาก เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วที่เห็นได้ชัดว่า ได้เท่าไรก็ไม่เคยรู้สึกอิ่มสักที ความสุขอย่างอื่นที่ดีกว่าก็มี อย่างเช่น ความสุขจากการแบ่งปัน จากการช่วยเหลือ การให้อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน อันนี้ก็มี เป็นสิ่งที่ให้ความสุขด้วย แล้วก็รับความสุขด้วย ความสุขที่เกิดจากการควบคุมพฤติกรรมภายในกรอบที่เรากำหนดเอง ด้วยความสมัครใจ เรียกว่าเป็นผู้ทรงศีล เมื่อเราไม่ละเมิดศีล ๕ ข้อ ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความรู้สึกเป็นเพื่อนกับตัวเอง ความเคารพนับถือตัวเอง ย่อมปรากฏชัด เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ในใจ กิเลสนั้นจะคอยกีดกันหรือว่าจะเป็นอุปสรรค ทำให้ความสุขที่ละเอียดอ่อน และความสุขที่ตอบปัญหาชีวิตเราได้นั้น ไม่เกิดขึ้น เราจึงต้องฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวางนิวรณ์ สิ่งเศร้าหมองอยู่ในจิตใจ เมื่อจิตใจเราได้รับผลของการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นสมาธิ จิตมีความมั่นคง หนักแน่น เยือกเย็น มีความสุขเกิดขึ้น เป็นธรรมชาติธรรมดาของจิตที่ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง เราจึงจะเริ่มเข้าใจในความหมายของ นิรามิสสุข สุขทางเนื้อหนังเรียกว่า อามิสสุข เกิดจากอามิส เกิดจากการกระตุ้น ส่วนนิรามิสสุขเกิดจากจิตใจที่สะอาดสะอ้านภายใน พ้นจากอำนาจของกิเลส แม้แต่ชั่วคราวก็ดี แต่ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ ความสุขที่แท้จริงย่อมเกิดไม่ได้ หลังจากเมื่อจิตใจได้เจริญด้วยสมาธิภาวนาเป็นฐานแล้ว เราต้องเจริญปัญญา เพราะการรู้แจ้งเห็นจริง ในกายในใจ จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ เป็นสิ่งที่ขจัดกิเลสโดยสิ้นเชิง เมื่อกิเลสดับโดยสิ้นเชิง ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิงแล้ว เราก็เข้าถึงความสุขที่แท้จริง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Sep 2021 - 25 - ธรรมละนิด : นั่งสมาธิแล้วปวดหลัง
หากนั่งสมาธิแล้วปวดขา ปวดหลัง ควรทำอย่างไรให้ไม่ปวด หรือควรอดทนกับการปวด? ถ้าเราไม่เคยนั่งขัดสมาธิมาก่อน หรือนานๆ นั่งที หรือว่านั่งแต่ละครั้งไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาที ก็คงจะต้องเจอความปวดหลัง ปวดเอว ปวดขา เป็นธรรมดา ที่จริงการนั่งสมาธิก็ไม่ใช่เพื่อจะไม่รู้สึกอะไร แต่เพื่อจะมีสติรู้เท่าทัน ฉะนั้นการศึกษาเรื่องเวทนา ทุกขเวทนา และการวางใจอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนา ให้เป็นสักแต่ว่าเรื่องของกาย ไม่เข้าถึงจิตใจ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นวิชาอันหนึ่งที่นักปฏิบัติธรรมจะต้องสนใจศึกษา อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ถ้าหากว่า(เวทนา)ยังไม่แรงมาก ให้เรารู้ว่ามีเวทนาแล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ หรืออารมณ์กรรมฐานของเรา ถ้าทนไปสักพักหนึ่ง สักระยะหนึ่ง แล้วไม่ไหวแล้ว ก็ค่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถก็ได้ ถ้าเรานั่งสมาธิเป็นประจำ เราอาจจะได้ลองพิจารณาเวทนา หรือว่าทุกขเวทนาบ้าง เป็นวิธีฝึกจิตที่มีประโยชน์มาก แต่ในเบื้องต้นของการทำสมาธิ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรักษาความรู้สึกที่ดีต่อการนั่งสมาธิ ถ้าหากว่าทุกครั้งที่นั่งต้องทนทรมานนาน เดี๋ยวก็จะหมดกำลังใจ แล้วก็จะขี้เกียจทำต่อ ฉะนั้นอดทนบ้างเล็กน้อย แต่ไม่หักโหม แล้วถ้าไม่ไหวแล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าเรามีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว เราก็เริ่มมีโอกาสจะได้อยู่กับเวทนา ศึกษาทุกขเวทนาให้เข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับร่างกายให้ละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 05 Oct 2021 - 24 - ธรรมละนิด : การเมือง
พระพุทธเจ้าสอนอะไรในเรื่องการเมืองบ้าง? ในสมัยพุทธกาล ในมัชฌิมาประเทศก็มีระบบการปกครองที่หลากหลาย มีการปกครองด้วยพระมหากษัตริย์เสียส่วนใหญ่ สาธารณรัฐก็เริ่มมีในสมัยนั้น และที่น่าสังเกตคือพระพุทธองค์จะไม่เคยบอกว่า ระบบการปกครองอย่างนี้แหละถูกต้อง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ถ้าพระพุทธองค์เข้าไปในประเทศที่ปกครองด้วยพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็จะสอนว่า ในเมื่อมีคนพอใจกับระบบอย่างนี้ ทำอย่างไรถึงจะให้มันดีที่สุด ให้มันสอดคล้องที่สุดกับหลักธรรม ถ้าเข้าไปในประเทศของพวกวัชชี (Vajji) ที่เป็นสาธารณรัฐ ก็สาธารณรัฐที่ดีต้องเป็นอย่างไรจึงจะมั่นคง อย่างในการสอนพวกวัชชี พระพุทธองค์ก็ตรัสถึงเรื่องการประชุมกันเนืองนิจ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันจัดธุระของคณะปกครอง พร้อมเพรียงกันเลิกการประชุม เรื่องการให้ความเคารพกับผู้ใหญ่ ในเรื่องการปกป้องดูแลผู้หญิง ให้เกียรติผู้หญิง ในการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วให้ผู้ใหญ่ได้เข้าไปหาสมณะ ผู้มีปัญญา ได้ปรึกษาหารือเป็นประจำ ฉะนั้นพระพุทธองค์ก็จะให้หลักอย่างนี้ว่า ไม่ได้อยู่ที่ระบบ หรือว่าไม่ใช่ว่ามีระบบใดระบบหนึ่งที่ชาวพุทธควรจะยกย่อง หรือควรจะถือไว้ แต่ทำอย่างไรระบบของเราจะสอดคล้องกับหลักธรรมได้มากที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Nov 2021 - 23 - ธรรมละนิด : ชอบคิดวนเวียนเรื่องในอดีต
หากเราชอบคิดวนเวียนเรื่องในอดีตอยู่เรื่อยๆ มีความทุกข์มากแต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เราควรทำอย่างไร? อดีตทั้งหมดเดี๋ยวนี้ก็เป็นแค่สัญญา ความจำ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในปัจจุบัน เราก็ต้องพยายามมีสติอยู่ในปัจจุบัน แล้วให้รู้เท่าทันอดีตว่าสักแต่ว่า ความจำ ทีนี้ถ้าจิตใจเราไปปรุงแต่งในความทรงจำ โดยเฉพาะในสิ่งที่กระตุ้นให้รู้สึกละอายใจ หรือว่าเดือดร้อนใจ หรือว่าทุกข์ใจ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองโดยเปล่าประโยชน์ พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า บัณฑิตเป็นผู้ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทีนี้บางคนทำบางสิ่งบางอย่างในอดีต ละอาย แล้วก็อยากลงโทษตัวเอง ถ้าจะปล่อยวาง ถ้าจะตั้งต้นใหม่ ก็รู้สึกว่าไม่ถูก เหมือนกับลอยนวล ก็เลยเบียดเบียนตัวเอง ลงโทษตัวเอง ด้วยความคิด นี่เราต้องปล่อย ปล่อยได้ ให้เข้าใจว่า ที่เราเคยทำอะไรไม่ค่อยถูกต้อง พูดอะไรไม่ค่อยถูกต้องในอดีต เพราะในวันนั้น ในเวลานั้น เราก็มีสติปัญญาแค่นั้น มีความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปแค่นั้น มีสติมีความสำรวมแค่นั้น เพราะฉะนั้นการที่เราได้ทำได้พูดเช่นนั้นในวันนั้น ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะป้องกัน ไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป เราจึงสรุปแล้วว่า ต้องฝึกให้มีสติให้มากกว่านี้ มีความอดทนมากกว่านี้ มีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาปมากกว่านี้ เพื่อเรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีที่มีผลกระทบต่อคนอื่น เราก็ยอมรับความผิด เปิดเผยกับผู้เป็นกัลยาณมิตร แล้วที่สำคัญตั้งอกตั้งใจว่า ไม่ทำอย่างนั้นต่อไป ส่วนความทรงจำที่ยังเหลืออยู่ เรารู้เท่าทันว่า สักแต่ว่าความทรงจำ เกิดขึ้นแล้วดับไป อย่าไปเก็บกด อย่าไปวิ่งตาม รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 07 Dec 2021 - 22 - ธรรมละนิด : ภาวนา
ภาวนามีความหมายจริงๆ ว่าอย่างไร? ภาวนา แปลตามรากศัพท์ว่า ทำให้มีขึ้น หรือว่าแปลอีกแง่หนึ่ง คือ พัฒนา ทำให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น การภาวนาก็คือการพัฒนาทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทีนี้ชีวิตประจำวันสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยจะเอื้อต่อการภาวนา มีสิ่งกดดัน มีสิ่งยั่วยุสารพัดอย่าง แต่เมื่อเราแบ่งเวลาให้การนั่งขัดสมาธิ หลับตา เจริญสติกับลมหายใจ หรือการเดินจงกรม ก็คือเป็นเวลาที่เราให้กับการภาวนา หรือการพัฒนาชีวิตโดยตรง เราพัก เรางด จากเรื่องอื่นทั้งหลายชั่วคราว เพื่อมุ่งต่อการภาวนา ต่อการพัฒนาชีวิตอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงมักใช้คำว่า นั่งภาวนา เรากำลังภาวนากัน หมายถึงว่าเราจัดสรรสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง เพื่อการภาวนาโดยเฉพาะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราภาวนาเฉพาะเวลาเรานั่งขัดสมาธิ หรือเราเดินจงกรม แต่ในชีวิตประจำวันเรามีความพยายามที่จะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดีในจิตใจ และพัฒนาสิ่งดีงาม ก็ถือว่าเรากำลังภาวนากันอยู่ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 May 2021 - 21 - ธรรมละนิด : บุญคุณพ่อแม่
ทำอย่างไรถึงจะเป็นการตอบแทนบุญคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่ดีที่สุด? นอกเหนือจากการดูแล การปรนนิบัติ การรักษาในยามเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรทำนองนี้ ที่ว่าเป็นการตอบแทนสามัญ สิ่งที่สูงสุดก็อยู่ที่จิตใจ เพราะว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สิ่งสูงสุดของมนุษย์คือการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง แล้วคุณธรรมประจำพระอริยเจ้ามี ๔ ข้อ คือ ศรัทธา ศีล จาคะ คือความใจบุญ ใจดี ใจเสียสละ และปัญญา และ ๔ ข้อนี้ยังเป็นคุณธรรมประจำจิตประจำใจของเทวดาด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเรามีส่วนช่วยให้พ่อแม่ที่เป็นผู้ไม่มีศรัทธาเกิดมีศรัทธา หรือมีศรัทธาน้อยมีศรัทธามากขึ้น หรือว่าพ่อแม่ที่ศีลธรรมยังบกพร่อง ทำให้ท่านมั่นคงในศีล ผู้ที่ยังมีความตระหนี่หรือความเห็นแก่ตัว ก็เป็นคนที่มีความสุขในการสร้างประโยชน์ สร้างความสุขให้คนอื่นมากขึ้น และเป็นผู้มีปัญญาน้อยก็ได้มีปัญญา โดยเฉพาะในเรื่องการดับทุกข์ของตัวเอง ถือว่าถ้าเรามีส่วนช่วยให้ท่านได้เจริญใน ๔ ข้อนี้ ก็เป็นการช่วยสร้างปัจจัย ทั้งต่อการขึ้นสวรรค์และต่อการพ้นทุกข์ เป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอริยเจ้า ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณที่สูงสุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 06 Apr 2021 - 20 - ธรรมละนิด : พุทธศาสนิกชน
การเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีควรเป็นอย่างไร? เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เราต้องสนใจศึกษาว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรบ้าง เราก็ต้องนำไปใช้ นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อตัวเราด้วย เพื่อครอบครัวเราด้วย เพื่อชุมชน สังคม ประเทศชาติด้วย ในการนำคำสอนพระพุทธเจ้าไปประยุกต์ใช้หรือการปฏิบัติ เราก็จะเน้นใน ๓ หัวข้อใหญ่ ก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ทาน ก็ไม่ใช่วัตถุอย่างเดียว ทาน นี่ก็คือมีอะไรที่ดี ที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ เราก็แบ่งปันไม่เก็บไว้ใช้คนเดียว ไม่มีโอกาสใส่บาตรนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้ทำทาน อย่างทุกวันนี้คนรวยทรัพย์มากขึ้น แต่จนเวลา ฉะนั้นเราเห็นใครเขากำลังทุกข์ เราก็ให้เวลากับเขา ไปนั่งเป็นเพื่อนให้เขาได้หายเหงา หายทุกข์ได้ เราก็ได้ทำบุญ เราก็ได้ให้ทาน ให้เวลาที่มีค่าของเราให้กับเขา เป็นต้น ส่วนการรักษาศีล เราก็ควรจะถือศีลห้าเป็นมาตรฐาน ฝึกตนฝึกพฤติกรรมของตนตามศีลห้าข้อ จากนั้นแล้วการทำบุญที่สูงสุดหรือว่าการที่เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ก็อยู่ที่การเพียรพยายามละสิ่งที่ไม่ดีในใจเรา บำเพ็ญสิ่งที่ดี ชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด แบ่งปันเวลาทุกวันกับการทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิบ้าง ฉะนั้นเรามีการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เราก็จะได้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Mar 2021 - 19 - ธรรมละนิด : เริ่มวันใหม่
ในทุกๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมา เราควรเริ่มต้นวันใหม่อย่างไรให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร? เดี๋ยวขอถอยหลังก่อน ว่าก่อนนอน... ก่อนนอนนี่ต้องตั้งใจว่า พรุ่งนี้เช้าตื่นขึ้นมาเมื่อไรต้องลุกขึ้นทันที ไม่นอนต่อ จะช่วยป้องกันความขี้เกียจขี้คร้านตอนเช้า ตื่นเช้าแล้ว ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเป็นนาฬิกาปลุก ห้ามเช็คไลน์ ไม่ต้อง เอาทีหลัง ตื่นขึ้นมานี่จิตใจอยู่ในสภาพที่ปลอดโปร่งพอสมควร ไม่น่าจะมีความฟุ้งซ่านวุ่นวายอยู่ในสมองแต่เช้า ฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ภาวนา ที่เราจะได้เจริญสติในรูปแบบ ถ้ายังลุกไม่ได้อยากนอนต่อ ก็มีกุศโลบายอีกก็พลิกมานอนคว่ำ แล้วก็วิดพื้น ๕-๖ ครั้ง สดชื่น... สดชื่นแล้วไปทำกิจส่วนตัว ทำกิจส่วนตัวแล้ว ถ้ามีบุญมีห้องพระก็เข้าห้องพระ ไม่มีห้องพระก็เข้าที่ ที่เรานั่ง แต่อย่าให้มันใกล้เตียงจนเกินไป แล้วก็ทำวัตรสวดมนต์ เล็กๆ น้อยๆ แล้วแต่เวลา แต่การทำวัตรสวดมนต์ การไหว้พระ ก็เป็นการเตรียมจิตก่อนที่จะเข้าสู่การภาวนา การภาวนานั้น ถ้าหากว่าเรายังไม่ค่อยมีกำลังใจ ก็ขอแนะนำให้ตั้งใจว่า เราจะนั่งสมาธิ ๑๕ นาที ๕ นาทีแรก เราก็ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ๕ นาทีต่อมาเราก็อุทิศให้คุณพ่อ ๕ นาทีสุดท้ายให้คุณแม่ ก็เป็นกุศโลบายทำให้มีกำลังใจ มันไม่ใช่สำหรับเราคนเดียว เราก็ทำเพื่อสร้างคุณงามความดี อุทิศให้คุณพ่อคุณแม่ แล้วก็เป็นการปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทีนี้เราเจริญสติอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยก็ระวังไม่ให้ง่วงเป็นอันขาด ทำอย่างไรเราจึงจะอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างไม่ง่วง อย่างมีความสุข ในเมื่อถ้าเราตั้งสติไว้ดีตั้งแต่เช้า แล้วคอยประเมินผลในชีวิตประจำวัน ไม่นานจะเห็นว่าวันไหนทำสมาธิแต่เช้า เจริญสติแต่เช้า วันนั้นความอดทนก็มากขึ้นหน่อยหนึ่ง ความสำรวม ความใจเย็น ความเมตตากรุณา เราก็จะเห็นผล ทำให้คุณภาพชีวิตเพิ่มมากขึ้น จะเป็นกำลังใจให้ทำต่อ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Feb 2021 - 18 - ธรรมละนิด : ข่าวการเมือง
ในช่วงที่ข่าวการเมืองมีความเข้มข้นดุเดือด ทำให้ตามข่าวแล้วเครียด เราควรมีหลักคิดอย่างไรในการตามข่าวการเมือง? ถ้าเป็นผู้ครองเรือนแล้วก็ควรจะกำหนดเวลาในแต่ละวัน ที่เราจะแบ่งไว้กับการดูข่าวการบ้านการเมือง ที่จริงแต่ละวันไม่ต้องดูมาก ไม่กี่นาทีนี่ก็พอรู้ได้ ส่วนมากก็วกวนเรื่องเดิมๆ ถ้าฟังอะไรที่ชวนเครียดบ่อยๆ ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเอง ก็ไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราเข้าใจว่าเราดูข่าว แล้วก็ฟังว่าดี แต่ที่จริงถ้าเราดูสิ่งที่เราได้ดูแล้ว หนึ่งรอบแล้วหรือสองรอบแล้ว ในแต่ละวันก็เป็นเรื่องการเพ้อเจ้อมากกว่า ข่าวที่เป็นการเพ้อเจ้อก็มี ฉะนั้นเราก็ต้องฝึกให้กลั่นกรอง ให้เรารู้จักดูตรงไหน อ่านตรงไหน มันจึงจะได้ข้อความได้ความรู้ที่ต้องการ โดยไม่เสียเวลาให้มากและไม่ให้อารมณ์เราเสีย พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 30 Apr 2019 - 17 - ธรรมละนิด : ผัดวันประกันพรุ่ง
ทำอย่างไรเราจึงจะเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ ? คนทั่วไปเนี่ย คนไทยนี่ ชอบของผัดเนอะ ข้าวผัดอะไรผัดนี่ก็ชอบกัน แต่ที่ทุกคนชอบมากที่สุด คือตัวนี้...ผัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนสิ่งที่ควรทำในวันนี้ ก็มักจะเกิดเพราะเราหลอกตัวเองว่ายังมีเวลาอยู่ ยังไม่ถึงเวลา ถ้ามีเวลาทำพรุ่งนี้ ไม่ทำวันนี้จะดีกว่า เอาความง่าย เอาความสบายเป็นหลัก การระลึกว่าเวลาของเรา มันก็หมดไป หมดไป เราไม่รู้ว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้ในอนาคตรึเปล่า ฉะนั้นถ้าเรามีนิสัยอย่างนี้ ถ้ามีสติ เมื่อเกิดความคิดจะทำอะไรสักอย่างนึงว่าควรจะทำ แล้วมันจะมีความคิดต่อว่า “เออ...เอาไว้ก่อน” ต้องพูดกับตัวเองตรงนี้ ตั้งมันเป็นสติว่า ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ “Do it now” “Do it right now !” คือนี่ก็เป็นคำบริกรรมทุกครั้งที่คิดจะผัดวันประกันพรุ่ง “ทำเดี๋ยวนี้ !” “ทำเดี๋ยวนี้ !” ไม่ต้องคิดมาก “ทำเดี๋ยวนี้” พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 14 May 2019 - 16 - ธรรมละนิด : โรคซึมเศร้า
ถ้ามีคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้า เราควรจะทำอย่างไร? คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเป็นผู้ที่ปล่อยให้มีความคิดที่ไม่ดีบางอย่างตกร่อง จิตจะวกวนในความคิดเก่าๆ โดยเฉพาะความคิดในทางที่ว่าเราไม่ดี เราทำอะไรไม่สำเร็จ เราแย่ เป็นต้น ฉะนั้น ในเมื่อจิตตกร่องอย่างนี้ มักจะมีผลให้ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แล้วจิตใจก็หมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง ฉะนั้นในเบื้องต้นก็เป็นเรื่องพื้นฐาน หรือว่าจะต้องพยายามชวนให้ออกกำลังกาย ออกจากห้อง ออกจากบ้าน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่ในกรุงในเมืองก็ออกไปต่างจังหวัดถ้าเป็นไปได้ อย่างน้อยให้มีการเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ในเบื้องต้นสิ่งที่จะได้ผลได้เร็วก็คือทาน การชวนให้ผู้ซึมเศร้าทำทาน โดยเฉพาะการให้ทานที่เห็นผลได้ทันที อย่างเช่นการเลี้ยงเด็กกำพร้า คือสิ่งที่เราทำไปแล้ว เราก็เห็น โอ้...ทำให้คนอื่นมีความสุขได้ ก็ทำให้มีความเชื่อมั่นว่า ตัวเองมีอะไรที่จะให้กับโลกได้เหมือนกัน ส่วนการภาวนาไม่ใช่ว่านั่งสมาธิจะเป็นวิธีแก้ปัญหาทุกอย่าง การให้คนนั่งคนเดียว นั่งหลับตา อาจจะไม่ดีสำหรับคนซึมเศร้า ควรจะให้ออกในสังคม ในสังคมคนดี ในการทำงานจิตอาสาหรือทำอะไรเพื่อคนอื่นให้มาก แล้วก็เจอคนที่ร่าเริง คนที่มีความสุข อย่าไปคลุกคลีกับคนที่ซึมเศร้าด้วยกัน ถ้าจะให้เจริญสมาธิภาวนาก็เน้นที่เมตตาภาวนา แล้วถ้าทำเมตตาภาวนาในระหว่างการเดินจงกรมก็จะดี ก็ไม่อยากให้ผู้ซึมเศร้าอยู่คนเดียว นั่งสมาธิคนเดียวเท่าไหร่ แต่ถ้าออกในสถานที่อย่างนี้ เดินใต้ต้นไม้แผ่เมตตาเปลี่ยนให้จิตใจให้ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายนี้จะแก้ได้เยอะเลยโดยยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องจิตใจเท่าไหร่ ก็อยากให้ออกกำลังกายให้มาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 28 May 2019 - 15 - ธรรมละนิด : สุขที่แท้
ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร? คำว่า 'แท้จริง' นั้น ก็น่าจะหมายความว่า 'ไม่เสื่อม' หรือว่าเป็นความสุขสูงสุด ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาเราถือว่า ถ้าเป็นความสุขที่เกิดจากการกระตุ้นจากภายนอกเป็นความสุขชั่วคราว ซึ่งเราจะเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แล้วไม่นานเราก็ต้องพลัดพราก แล้วเป็นความสุขที่อาจจะทำให้เราเสพติดก็ได้ ถ้าเราหลงความสุขทางเนื้อหนังอาจจะนำไปสู่การผิดศีลก็ได้ การเบียดเบียนซึ่งกันและกันได้ ความสุขที่แท้จริงก็ต้องเกิดจากภายใน แล้วเป็นความสุขที่ไม่อาศัยสิ่งอื่น ไม่ใช่เป็นผลของการกระตุ้น แต่เป็นอาการที่เกิดจากจิตที่สงบ จิตที่สะอาดที่สว่าง คือจิตที่ปราศจากกิเลส ฉะนั้นความสุขอันไหนที่เกิดจากกิเลส หรือปนด้วยกิเลส หรือนำไปสู่กิเลส เราถือว่าไม่แท้จริง แต่ถ้าความสุขที่เกิดขึ้นเพราะชนะกิเลสและพ้นจากกิเลส นั่นเราถือว่าเป็นความสุขที่แท้จริง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 11 Jun 2019 - 14 - ธรรมละนิด : เฟซบุ๊กกับการปฏิบัติธรรม
เราจะสามารถปฏิบัติธรรมในขณะที่เล่นเฟซบุ๊กได้หรือไม่? คงจะแล้วแต่ว่าเราเล่นอย่างไร เพื่ออะไร ทุกวันนี้ก็ยังมีธรรมะอยู่ในเฟซบุ๊กอยู่บ้างเหมือนกัน ถ้าเราอ่านธรรมะในเฟซบุ๊ก ก็คงไม่ขัดอะไรกับการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเล่นเป็นการฆ่าเวลา เล่นในเรื่องเพ้อเจ้อต่างๆ มันก็มีผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ง่าย มันก็กินเวลาด้วย ซึ่งบางทีสิ่งที่อ่านหรือสิ่งที่โพสต์ อาจจะไม่ได้เสียหายอะไรหรอก แต่มันใช้เวลา ก็เลยทำให้เวลาที่จะทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าไม่มี และทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ากับการปฏิบัติธรรมหรือไม่ ก็ต้องรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไรอยู่เท่านั้นเอง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 25 Jun 2019 - 13 - ธรรมละนิด : คำถามชีวิต
คนเราควรตั้งคำถามกับชีวิตอย่างไร ? ในเมื่อเราเกิดแล้ว เราทุกคนต้องเผชิญกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ชีวิตเราจะยังเหลืออยู่ กี่ปี กี่เดือน กี่วัน กี่ชั่วโมง กี่นาที กี่วินาที ฉะนั้นเวลาเราจำกัด แต่เราไม่ทราบว่าจำกัดมากน้อยแค่ไหน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราน่าจะถือว่า เวลาของเรามีค่า เวลามีค่าแล้วจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร จึงจะเหมาะกับสิ่งมีค่ามาก ก็เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่สุด หรือทางที่เรารู้สึกภาคภูมิใจที่สุด ในทางพุทธศาสนาเราถือว่า ชีวิตที่ดีที่สุดหรือเหมาะที่สุด คือมีความเพียรพยายามที่จะสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง และการสร้างความสุข สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นสิ่งที่ควรถามเกี่ยวกับชีวิตคือ ชีวิตนี้คืออะไร เพื่ออะไร เราเกิดมาทำไม ทำอย่างไรเราจึงจะใช้ชีวิตที่น้อยนิดนี้ ให้เป็นประโยชน์ ให้ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามให้มากที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 09 Jul 2019 - 12 - ธรรมละนิด : ศีล ๕
ทำไมเราจึงควรถือศีล ๕ ? เหตุผลข้อแรก เราคงไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ยากมาก และเป็นโชคอย่างยิ่งเป็นลาภอย่างยิ่ง แล้วเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้เกิดเป็นมนุษย์ คือ การรักษาศีล ๕ ในชาติก่อน ฉะนั้นถ้าเรารักษาศีล ๕ ในชาติปัจจุบัน ก็เป็นการรับประกันความปลอดภัยในการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป อันนี้เป็นข้อแรกซึ่งเป็นเรื่องของศรัทธาว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สิ่งที่เราพิสูจน์ได้ก็คือทุกคนต้องการความปลอดภัย ความรู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นฐานความสุขที่เราขาดไม่ได้ แล้วในเมื่อเราทุกคนยังมีกิเลสอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะได้อยู่ด้วยกันในลักษณะที่ทุกคนจะรู้สึกปลอดภัย ถ้าหากว่าเราประกาศเราสัญญาไว้กับคนรอบข้างว่า ถึงแม้ว่าบางครั้งบางคราว เราโกรธเราแค้น เราจะไม่เบียดเบียนใครเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเรายังมีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่ เราสัญญาไว้ว่า จะไม่ทำ จะไม่ถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้เป็นอันขาด สำหรับผู้ที่มีคู่ครองแล้ว ถึงแม้ว่าเรายังอาจจะรู้สึกว่า คนอื่นเขาน่ารักบ้าง ก็อาจจะรู้สึกชอบเขาบ้าง แต่ว่าเราสัญญาไว้กับคู่ครองว่า เราจะไม่ทำอะไรไม่พูดอะไรเพราะความรู้สึกอย่างนี้ เราจะจงรักภักดีตลอดไป ถึงแม้ว่าบางทีเราก็คิดอยากจะโกหก เพราะกลัวเขาจะเสียความเคารพ กลัวเราจะขาดผลประโยชน์ กลัวหรือว่าอยากได้นั่นอยากได้นี่ เราจะไม่พูดเท็จเป็นอันขาด แล้วสี่ข้อนี้ก็คือการให้ความรู้สึกปลอดภัยกับคนรอบข้าง ทำให้คนอยู่ด้วยกันไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีความสงบร่มเย็นกันได้ แต่ถ้าข้อที่ ๕ ไม่อยู่ เราจะรับรองตัวเองไม่ได้ เพราะถ้าดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติดแล้ว ความยับยั้งชั่งใจ ความละอาย ความเกรงกลัวจะลดน้อยลง รับประกันรับรองตัวเองไม่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องเพิ่มข้อที่ ๕ ด้วย เพื่อเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่างเป็นมิตรต่อกันและกัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Aug 2019 - 11 - ธรรมละนิด : ทำไมพระสงฆ์ต้องตื่นเช้า
ทำไมพระสงฆ์จึงต้องตื่นเช้ามากๆ ? พระวัดป่าเราต้องออกบิณฑบาตตั้งแต่ตี ๕ ตี ๕ กว่า บางทีต้องเดิน ๒-๓ กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน แล้วเราต้องการมีเวลาทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก่อนออกบิณฑบาต แล้วก็ยังจะต้องจัดที่นั่ง ต้องเช็ดถูโรงฉันด้วย เลยจำเป็นต้องตื่นเช้า แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าเช้า เพราะว่าพอถึงตี ๓ เราก็ได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว เพราะว่าพระเราก็ไม่ได้นอนมาก ๔-๕ ชั่วโมงเสียส่วนใหญ่ แล้วก็เช้านี่อากาศดี เย็นสบาย เงียบ ก็เป็นเวลาที่เหมาะกับการปฏิบัติมาก พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Sep 2019 - 10 - ธรรมละนิด : ภพชาติมีจริงไหม
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภพชาติมีจริง? ผู้ที่ไม่มีญาณระลึกชาติได้ ซึ่งหมายถึงมนุษย์ ๙๙.๙๙๙ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แล้วไม่เป็นสิ่งที่เราควรจะสรุป หรือว่าเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่ามีหรือไม่มี ควรจะอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเราไม่รู้ แต่ในขณะเดียวกันความเชื่อในภพชาติก็มีเหตุผลหลายประการ เริ่มตั้งแต่พุทธพจน์หรือพุทธวจน ซึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ในเกือบทุกพระสูตรหรือว่าปรากฏบ่อยมาก ฉะนั้นในเมื่อเราเป็นพุทธมามกะแล้ว เราก็ต้องพิจารณาว่า ถ้าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ ๑. เป็นเรื่องจริง ๒. พระพุทธองค์โกหก (ขออภัยพูดตรงๆ) ๓. พระพุทธเจ้าหลง ทีนี้ถ้าเราดูจากพระสูตร ดูจากคำสอนในพระไตรปิฎก โอกาสที่พระพุทธเจ้าโกหกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ มันเป็นไปไม่ได้ ผิดวิสัยของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ๑. จริง ๓. พระพุทธเจ้าเชื่อว่าจริง แต่พระพุทธเจ้าหลง เราเป็นพุทธมามกะ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่หลง ฉะนั้นเราก็ให้น้ำหนักกับพุทธวจน โดยที่เรายอมรับว่า นี่ไม่ใช่การพิสูจน์ เป็นเรื่องของศรัทธา การระลึกชาติของพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติดีหรือว่าผู้ทรงฌาน ก็มีตั้งแต่สมัยพุทธกาล ก็ต้องใช้หลักเมื่อกี้นี้ว่า ๑. เป็นเรื่องจริง ๒. ท่านโกหก ๓. ท่านหลง จากที่ดูประวัติของครูบาอาจารย์ นี่เราคิดว่าโอกาสที่จะโกหก จะหลง นี่น้อยมาก ฉะนั้นก็เป็นน้ำหนัก ในปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่าพิจารณาหรือว่าน่าติดตามก็คือ การเก็บหลักฐานจากเด็กทั่วโลกที่ระลึกชาติได้ ส่วนมากระหว่างอายุ ๒-๓ ขวบ ถึง ๕ ขวบ ในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย นักวิชาการก็ได้เก็บข้อมูลเรื่องนี้ แล้วก็ได้เช็คให้เป็นที่พอใจว่า ไม่มีการหลอกลวง ไม่มีอะไร ได้ ๒,๐๐๐ กว่ารายแล้ว และก็ยังมีคนบางคนที่สะกดจิตแล้วก็ระลึกชาติได้ ฉะนั้นชาวพุทธเราก็จะไม่พูดด้วยความมั่นใจว่าใช่หรือไม่ใช่ ในเรื่องที่เรายังไม่เห็นเป็นประสบการณ์ตรง แต่เราเชื่อด้วยเหตุผลอย่างนี้ ๑. พุทธวจน ๒. การระลึกชาติของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือผู้ทรงฌาน ๓. การระลึกชาติของเด็กทั่วโลก อายุ ๓-๕ ขวบ ๔. การระลึกชาติสำหรับผู้สะกดจิต เพราะฉะนั้นเราอาจจะถือว่านี่เป็นคำเสนอ เป็นสมมติฐานของชาวพุทธ แต่ถ้าหากว่ามีสมมติฐานอย่างอื่น เราก็ท้าทาย อย่างเช่นเรื่องของเด็กระลึกชาติ ถ้าไม่จริงแล้วจะอธิบายอย่างไร ฉะนั้นไม่มีทางจะรู้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้เรามีความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 17 Sep 2019 - 9 - ธรรมละนิด : ทำบุญแก่ผู้ล่วงลับ
วิธีใดเป็นวิธีทำบุญที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว? การทำทาน การถวายของแก่พระสงฆ์เป็นสังฆทาน เป็นต้น อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการทำบุญที่เหมาะสมน่าอนุโมทนา แต่เราไม่ควรลืมว่านอกจากการให้ทานแล้ว บุญก็ยังเกิดขึ้นด้วยการรักษาศีลและด้วยการภาวนา ฉะนั้น ในโอกาสหรือในเวลาที่ไม่มีโอกาสไปวัดเลย ไม่สามารถไปทำบุญ แค่รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์หนึ่งวัน อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ได้เลย แล้วยิ่งการภาวนาซึ่งพระพุทธองค์ถือว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกตนให้เป็นคนดี ปล่อยวางสิ่งไม่ดีในจิตใจเรา พัฒนาสิ่งดีงาม ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วถ้าท่านรับทราบ ท่านก็คงมีความสุขความภาคภูมิใจในตัวเรามากกว่าในกรณีที่เราถวายของให้กับพระ ฉะนั้น การภาวนา การฝึกให้จิตใจของเราสงบจากกิเลสต่างๆ แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็น่าจะถือว่าดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Dec 2019 - 8 - ธรรมละนิด : สบายใจทั้งวัน
ในชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างจะยุ่งวุ่นวาย เราควรทำใจอย่างไรให้ใจสบายได้ตลอดทั้งวัน? การเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำวัตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นการเตรียมใจ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ไม่วุ่นวาย ไม่ฟุ้งซ่านจนเกินไป แต่ในชีวิตประจำวันเอง เราก็ต้องพยายามมีสติในทุกอิริยาบถในทุกเรื่อง สติต้องมีตลอด แตว่าเครื่องระลึกของสติ หมายถึงว่า เราจะมีสติกับอะไรบ้าง คือต้องเปลี่ยนให้เหมาะสม อย่างเช่น เวลาอยู่คนเดียวอาจจะมีสติกับการเคลื่อนไหว เวลาเราขับรถไปที่ทำงาน อาจจะฟังพระเทศน์ก็ได้ หรือว่าเราเจริญเมตตาภาวนา ถ้าอยู่ในที่ทำงานต้องประชุมกัน แล้วก็ต้องพูดกับคนนั้นคนนี้ ก็มีสติกับการพูดให้เป็นสัมมาวาจา คือไม่ว่าอยู่ที่ไหน มีความพยายามดูแลจิตใจ ไม่ให้เศร้าหมอง พยายามให้มีหลักธรรมอยู่ในใจ ให้จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลให้มากที่สุด นั่นก็คือวิธีการ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Feb 2020 - 7 - ธรรมละนิด : ทำบุญ-ถูกหวย
ทำบุญอย่างไรให้โชคดีถูกหวยบ้าง? ถ้าทำบุญอยากได้ มันก็ไม่เป็นบุญ เพราะว่าบุญคือเรื่องการชำระสันดาน ชำระจิตใจ ถ้าทำบุญมีเงื่อนไข ไม่ใช่การทำบุญ ก็เป็นการแลกเปลี่ยน แล้วก็ให้โดยหวังว่าจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน ฉะนั้นถ้าสนใจเรื่องการได้เลข แล้วก็ไปฟังเทศน์เพื่อจะได้เลข ก็คงไม่ได้ธรรมะอะไรเท่าไร แล้วจิตใจมันก็จะเป็นบาปมากกว่าบุญ ทีนี้การที่เราจะถูกลอตเตอรี่ได้เงินได้ทองนั้น จะนำไปสู่ความสุขจริงหรือเปล่า ถ้าคนเราไม่รักษาศีล คนเราไม่รู้จักบริหารอารมณ์ตัวเอง ถึงจะได้เงินได้ทองแล้ว ก็คงไม่ได้ทำให้มีความสุขอะไรมากมาย อาจจะเป็นช่วงแรกๆ แต่ไม่นานแล้วเงินก็จะหมดไป แล้วก็อาจจะยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้นการได้รางวัล การได้ถูกหวย นี่ไม่ใช่ว่าการแก้ปัญหาชีวิตอย่างที่คิดกัน ก็ลองอ่านประวัติของคนที่เคยถูกหวย ว่าหลังจากรวยเป็นอย่างไร ส่วนมากก็จะผิดหวัง ที่สำคัญพอญาติพี่น้องรู้ว่ารวยแล้ว นี่…วุ่นวายเลย เพราะฉะนั้นก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้าทำบุญอย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน เราก็ได้อริยทรัพย์อยู่ในใจซึ่งไม่มีใครแย่งชิงได้ แล้วก็ไม่มีวันจะหายจากเราได้ มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 03 Mar 2020 - 6 - ธรรมละนิด : เมื่อโลกไม่น่าอยู่
รู้สึกโลกนี้ไม่น่าอยู่เลย สังคมก็มีปัญหามาก รู้สึกสิ้นหวัง ควรทำอย่างไรดี? สังคมมันก็เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ทุกยุคทุกสมัย เราไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ ไม่ได้ถูกบังคับให้มาเกิด เราเลือกมาเกิดที่นี่ เลือกมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว สังคมไม่น่าอยู่ก็พยายามทำให้สังคมดีขึ้นสิ อย่างน้อยสังคมรอบข้าง ครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง คนรอบข้าง ให้เรามีส่วนในการทำให้โลกที่ไม่ค่อยน่าอยู่ น่าอยู่มากขึ้น ถ้าเราสิ้นหวัง นั่นก็เป็นแค่ความคิดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่ว่าตราบใดที่ยังมีผู้ศรัทธาในหลักคำสอนพระพุทธเจ้า ยังมีผู้ที่ต้องการละบาป บำเพ็ญกุศล ชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด หรือคนที่นับถือศาสนาอื่น ที่เขาอยากเป็นคนดี อยากทำสิ่งดีงามในโลก ก็ไม่น่าจะถือว่าโลกมันสิ้นหวังทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังอะไรมาก แต่พยายามทำสิ่งที่ดีเท่าที่จะทำได้ แล้วก็มีความชื่นชมในสิ่งที่ดีที่ตัวเองได้ทำไว้ แล้วให้ชื่นชมในความดีของคนอื่น คือถ้าสิ้นหวังแสดงว่าเราหลับหูหลับตาต่อความดีรอบข้างซึ่งก็ต้องมีอยู่เสมอ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 02 Jun 2020 - 5 - ธรรมละนิด : ใจมนุษย์เหมือนลิง
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเปรียบเทียบจิตใจของมนุษย์กับลิง? ก็ดูลักษณะของลิงแทบจะไม่นิ่งเลย กระโดดโลดเต้นอยู่ตลอดเวลา แล้วก็วิ่งไปวิ่งมา ดูเหมือนกับไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่มีจุดประสงค์อะไรที่ชัดเจน คือเคลื่อนไหวเพื่อเคลื่อนไหว ไม่ใช่เคลื่อนไหวเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากจะกินอะไรซักอย่าง ฉะนั้นจิตใจของมนุษย์ที่ขาดการฝึกอบรมก็เป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็เปรียบเทียบพฤติกรรมหรือว่า นิสัยของลิงเหมือนคนฟุ้งซ่าน คนขาดสมาธิ แล้วอีกข้อหนึ่งคือเป็นคำเปรียบเทียบของหลวงพ่อชา ในเรื่องของนิพพิทาหรือความเบื่อหน่าย เพราะคำนี้คนจะเข้าใจผิดกันเยอะ เข้าใจว่าเบื่อหน่ายแบบว่าไม่ชอบ เป็นเรื่องของโทสะ แล้วทำไมจึงเป็นคุณธรรมของผู้ปฏิบัติในขั้นสูง หลวงพ่อชาท่านเคยตักเตือน ผู้ที่เข้าวัดบอกว่า เขาเบื่อโลก อยากมาอยู่วัดเพราะเบื่อโลก แล้วหลวงพ่อชาท่านบอกว่า ความเบื่อทั่วไปนี่มันไม่ใช่ความเบื่อหน่ายที่พระพุทธองค์เรียกว่า ‘นิพพิทา’ ถ้าเป็นความเบื่อทั่วไปเหมือนตัวลิงมันเบื่อ มันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ก็เรียกว่าเบื่อ เบื่อแบบลิง แต่ถ้าเป็นนิพพิทา ความเบื่อหน่ายของนักปฏิบัติ อันนี้คือเบื่อการที่จะเป็นลิงหรือเบื่อความเป็นลิง ท่านบอกว่ามันต่างกันนะ ลิงเบื่อกับเบื่อลิง ถ้าลิงเบื่อก็แป๊ปเดียวก็หายเบื่อ แล้วก็เล่นต่อไป แต่ถ้าเบื่อความเป็นลิงแล้ว ก็จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากความเป็นลิงได้ต่อไป พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 04 Aug 2020 - 4 - ธรรมละนิด : ปฏิบัติธรรมประจำวัน
ถ้าเราไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ไปวัด เราสามารถปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง? การปฏิบัติธรรมที่วัดก็ไม่ถึงกับจำเป็นทีเดียว แต่มันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ คือไปวัด ยิ่งถ้าไปวัดต่างจังหวัดหรือว่าเป็นวัดในป่าอย่างนี้ ก็จะเป็นการออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ถ้าอยู่ที่บ้านสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งรอบๆ ข้างนี่ก็ได้แต่กระตุ้นกิเลสมากกว่ากระตุ้นกุศลธรรม แล้วมันจะทำให้จิตใจเราตกร่องได้ง่าย การที่จะงดจากการใช้โทรศัพท์ใช้อะไรนี่มันยาก เพราะฉะนั้นที่เราออกเป็นบางครั้งบางคราว เราก็ไปอยู่วัดหรือไปอยู่ต่างจังหวัดซึ่งมันเป็นโอกาสที่เราได้ถอยออกจากความคุ้นเคย บางทีเราก็เห็นว่า โอ้...เรื่องนี้ไม่ดีนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยนะ ถ้าปล่อยไปนี่ก็จะแย่ แล้วบางทีเราก็ออกมานะ เอ้อ...ที่จริงนะ ไปทุกข็กับเรื่องนี้ทำไม ที่จริงมันเรื่องแค่นี้ คือมันก็จะได้ perspective จะได้สัดส่วนจากการถอยตัวออกมา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า ไม่ใช่ว่าจะต้องไปวัดจึงจะปฏิบัติธรรม แต่การไปวัดนี่มันมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ในชีวิตประจำวัน อยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่ทำงาน การปฏิบัติก็อยู่ที่การพยายามละสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในใจ บำเพ็ญสิ่งที่ดี จะมีสิ่งท้าทายอยู่ตลอดเวลาว่า อยู่ท่ามกลางคนเห็นแก่ตัว จะทำอย่างไรเราจึงจะไม่เห็นแก่ตัว อยู่ท่ามกลางคนที่เครียด แต่ทำอย่างไรเราจึงจะไม่เครียด อยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ค่อยระวังวาจา แต่เราจะอยู่ด้วยการระวังวาจา มันก็มีสิ่งท้าทายตลอดเวลา อันนี้ก็คือการปฏิบัติได้ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Sep 2020 - 3 - ธรรมละนิด : คนอื่นไม่เข้าใจ
หลายๆ ครั้งเรามักคิดว่าคนอื่นไม่เข้าใจเรา และน่าจะเข้าใจเรามากกว่านี้ มีวิธีจัดการกับความคิดแบบนี้อย่างไร? ก็ต้องยอมรับว่าบางทีเราก็น้อยใจเขาว่าเขาไม่เข้าใจเรา แต่ตัวเราก็ยังเข้าใจตัวเราก็ไม่ได้เหมือนกัน แล้วเราจะไปหวังอะไรกับคนอื่น แล้วบางทีเขาอาจจะเห็นบางสิ่งบางอย่างในตัวเราที่เราไม่เห็นก็ได้ อาจจะเป็นจุดบอดของเราก็ได้ อย่าด่วนสรุปว่า เขาเข้าใจเราผิด แต่ดูว่าที่เขามองเรานี่ด้วยเหตุปัจจัยอะไร ทำไมเข้าจึงคิดอย่างนั้น ทีนี้บางคนก็ยังมีนิสัยใจคอไม่ค่อยอยากจะเปิดเผยความรู้สึกภายในใจ อยากรักษาเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ค่อยสะดวกใจที่จะไปกล่าวถึงเรื่องในใจ ซึ่งนั่นก็เป็นทางเลือกของเรา ที่เราชอบสไตล์นั้น ก็ไม่ผิดอะไร แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นนี่คนอื่นก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าใจเราผิดได้ เพราะเราไม่ให้ข้อมูลเขา แต่ก็อีกประเด็นหนึ่ง บางทีเราก็เปิดเผยหรือว่าพยายามให้เขาเข้าใจ แต่เข้าก็มีอคติต่อเรา คนที่มีอคติต่อเรานี่เขาก็จะฟัง แล้วเขาจะแปลตามความหมายของเขา นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้มีกิเลส ฉะนั้นการที่เราสำนึกว่าคนเขาไม่เข้าใจเรา นี่ก็ถือว่าธรรมดาของมนุษย์ แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลาง ก็พยายามดูว่าอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนี้ บางที...เออใช่ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เมื่อเขาคิดจะ...เอ้อมันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นที่คิดผิดก็ตรงที่ว่า “เขาน่าจะ” “เขาควรจะ” เข้าใจเราดีกว่านี้ ซึ่งที่เขาเข้าใจอย่างนี้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นถ้าส่วนไหนที่เรารู้สึกทำให้เกิดความเดือดร้อนหรือว่ามันเป็นปัญหา ก็หาโอกาส กาลเทศะ พูดคุยให้เขาฟัง พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 20 Oct 2020 - 2 - ธรรมละนิด : ทำไมต้องทำบุญ
ทำไมเราต้องทำบุญ? ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่ การทำบุญคือการชำระจิตใจ การทำให้จิตใจสูงขึ้น แล้วเมื่อจิตใจสูงขึ้นก็ย่อมมีความสุข เพราะฉะนั้นบุญก็คือชื่อของความสุข แต่ในภาษาไทยคำว่า ‘ทำบุญ’ มักจะหมายถึงการไปถวายของที่วัด แต่ที่จริงบุญเกิดได้ด้วยการให้ทาน หนึ่ง ด้วยการรักษาศีล หนึ่ง และด้วยการภาวนา เพราะฉะนั้น การรักษาศีลห้าก็ถือว่าเป็นการทำบุญ เพราะเป็นการทำให้บุญเกิดขึ้น ทำให้จิตใจเป็นบุญ ทำให้จิตใจสะอาดขึ้น สูงขึ้น มีความสุขมากขึ้น และการภาวนาก็คือการฝึกเพื่อระงับสิ่งเศร้าหมองในจิตใจ เพื่อบำรุงสิ่งดีงามในจิตใจ และแน่นอนแล้วก็ต้องทำให้จิตใจสูงขึ้น สะอาดขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราหวังความสุขความเจริญในชีวิต พระพุทธเจ้าสอนว่าการทำบุญ การทำจิตให้เป็นบุญ หรือการกระทำในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นทางที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 08 Dec 2020 - 1 - ธรรมละนิด : การทำให้ใจสงบ
เคล็ดลับในการทำให้ใจสงบคืออะไร? คนส่วนใหญ่ ต้องการสองอย่างพร้อมกัน คือต้องการให้จิตสงบ แต่ต้องการรักษาสิ่งที่ไม่สงบในจิตใจเอาไว้ แต่มันก็ขัดแย้งอยู่ในตัว ผู้ที่จะทำจิตให้สงบต้องกล้าเสียสละความพอใจในสิ่งที่ไม่สงบ ต้องเห็นโทษเห็นทุกข์ในความไม่สงบ มีศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวเองว่า จิตใจของเราสงบได้โดยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเคล็ดลับ อันที่จริงมันก็ไม่ได้ลับเท่าไรก็คือ ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง อันนี้สำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าขยันก็ทำ ขี้เกียจไม่ทำ อย่างที่หลวงพ่อชาท่านสอนลูกศิษย์ท่านสม่ำเสมอว่า ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ทำ พระอาจารย์ชยสาโร
Tue, 16 Apr 2019
Podcasts ähnlich wie ธรรมละนิด
พี่อ้อยพี่ฉอด พอดแคสต์ CHANGE2561
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม dhamma.com
ฟังธรรมะก่อนนอน ใครชอบนอนฟังธรรมะแล้วหลับ จ Dhamma Lover
People You May Know FAROSE podcast
รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด Hoy Apisak
ลงทุนแมน longtunman
พระเจอผี Prajerpee
เคาะข่าวค่ำ radio tonews
SONDHI TALK sondhitalk
ยืนเดี่ยว standaloneco
อ่านแล้วอ่านเล่า Ta Thananon Domthong
TED Talks Daily TED
คุยให้คิด Thai PBS Podcast
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) Thammapedia.com
The Secret Sauce THE STANDARD
THE STANDARD Podcast THE STANDARD
คำนี้ดี THE STANDARD
ข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ ภาคภาษาไทย 6:30 – 7:00 น. - วอย VOA
VOA Learning English Podcast - VOA Learning English VOA Learning English
Luangpor Paisal Visalo‘s Podcast (ธรรมะ จาก หลวงพ่อไพศาล วิสาโล) watpasukato
ไปป์เล่าเรื่องผี ไปป์เล่าเรื่องผี
พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
พุทธวจน พุทธวจน