Nach Genre filtern

1 สมการชีวิต

1 สมการชีวิต

ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana

นำ "โจทย์" จากชีวิตจริงมาวิเคราะห์แจกแจง, เปิดประเด็นปัญหา ขุดคุ้ยคำตอบที่ซ่อนอยู่ แล้วปรับสมดุลย์ด้วยสัจจะธรรม เพื่อให้เห็นเส้นทางดำเนินต่อไปในชีวิต ในช่วง "สมการชีวิต". New Episode ทุกวันจันทร์ เวลา 05:00, Podcast นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการธรรมะรับอรุณ ออกอากาศทุกวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) มีคำถาม/ข้อเสนอแนะ หรือสมัครติดตามฟังทั้ง 7 รายการ ที่ panya.org


Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

300 - "การผูกเวร" ละได้ด้วยความดี [6730-1u]
0:00 / 0:00
1x
  • 300 - "การผูกเวร" ละได้ด้วยความดี [6730-1u]

    Q1: เจ้ากรรมนายเวรในที่ทำงาน

    A: การกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลเป็นเรื่องธรรมดาในวัฏฏะสงสาร

    “ทำกรรมอย่างไร จะได้รับ 'กรรม' อย่างนั้น” เช่น ตบยุง แล้วจะเกิดเป็นยุงโดนตบ-อันนี้ไม่ถูก เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    “ทำกรรมอย่างไร จะได้รับ 'ผลของกรรม' นั้น" เช่น ตบยุง ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บมาก-อันนี้ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ

    - ในทางพระพุทธศาสนา กรรมดีมี กรรมชั่วมี การผูกเวรมี แต่ความเป็นเจ้าของไม่มี คำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” หมายถึง กรรมไม่ดีกำลังให้ผล เป็นความทุกข์ ความเผ็ดร้อน อยู่ตอนนี้

    - เหตุของความสุข ความทุกข์ ไม่ได้เกิดจากกรรมเก่าเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากเหตุอื่นได้ เช่น การถูกทำร้าย สุขภาพร่างกาย สภาพดินฟ้าอากาศ การเตรียมตัวไม่สม่ำเสมอในชาตินี้ ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่าจากชาติที่แล้ว

    - ในกรณีทุกขเวทนาที่เกิดจากกรรมเก่า มีวิธีแก้โดยการทำความดีให้มากขึ้น แม้ความชั่วที่เคยทำไว้ไม่ได้ลดลง แต่ผลของความชั่วนั้นจะเบาบางลง การทำความดีทำให้เกิดความสบายใจ ความสบายใจนี้ทำให้ความร้อนใจจากกรรมชั่วเบาบางลง เปรียบกับการเจือจางน้ำเค็มจากเกลือด้วยน้ำที่มากขึ้น ปริมาณเกลือเท่าเดิม แต่น้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเค็มเจือจางลง

    Q2: ผลจากการสาปแช่งผู้อื่น

    A: การกระทำให้ผลเป็นสุขหรือทุกข์ อุปมาอุปไมยได้ 4 กรณี

    1. กินเครื่องดื่มที่หอมหวาน สีสวย รสชาติดี แต่เจือด้วยยาพิษ-ทำไม่ดี ตอนทำได้สุข แต่จะได้รับทุกข์ในภายหลัง

    2. กินบวบขม กลิ่นไม่ดี เจือด้วยยาพิษ-ทำไม่ดี ได้ทุกข์ทันที

    3. กินยาดองน้ำมูตรเน่า รสขม ฝาด ไม่หวาน แต่กินแล้วจะได้ผลดีภายหลัง หายเจ็บป่วย-ทำดีแต่กลับได้ทุกข์ แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไป จะได้รับสุขในภายหลัง ต้องใช้ความอดทน

    4. กินน้ำผึ้งผสมโยเกิร์ตใส่น้ำอ้อย รสชาติดี แก้โรคภัยไข้เจ็บได้-ทำดีแล้วได้สุขทันที

    - เมื่อมีคนทำไม่ดีกับเรา หากเราทำความไม่ดีกลับคืนไป เราก็กลายเป็นพวกเดียวกับเขา

    - การสาปแช่งให้ผู้อื่นได้ไม่ดี เป็นการผูกเวร เป็นกรรมทั้งทางกายและทางใจ เราได้ความสุขนิดเดียว แต่มีโทษมาก อกุศลกรรมฝังลงในใจเรา

    - การถอนการสาปแช่ง ต้องเอาความดีไปชำระล้างความไม่ดี ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ (ทาน ศีล 8 สมาธิ ปัญญา) เพื่อล้างกำจัดชำระความพยาบาท การจองเวร อันมีฐานมาจากโทสะ ซึ่งเป็นกิเลส ยิ่งทำความดีมากขึ้น กิเลสก็จะเบาบางลง เหมือนน้ำที่เพิ่มขึ้น ความเค็มก็จะลดลง

    Q3: คนรักพูดทำร้ายจิตใจ

    A: ให้ถอนความรักความพอใจในบุคคลนั้น ด้วยการมี “สติ” และใช้ “ปัญญา” ที่แหลมคม ตัดความรักความพอใจนั้นออกไป ด้วยการพิจารณาว่าปัญหาคืออะไร ตัวเราตัวเขาอยู่ตรงไหน เราเจ็บตรงไหน จะพบว่าเจ็บตรงใจ ก็หาเหตุที่เกิดนั้น (ตัณหา อุปาทาน ความยึดถือ) แล้วพิจารณาต่อไปว่า เมื่อตัวเราตัวเขาไม่มีแล้ว ความรักความพอใจในบุคคลนั้นจะมีได้อย่างไร ก็จะละความรักความพอใจนั้นได้ ไม่เจ็บอีก ส่วน “สมาธิ” จะเป็นตัวประสาน ไม่ให้กลับกำเริบอีก ต้องสำรวมอินทรีย์ให้ดี อย่าไปทำสิ่งที่จะทำให้เกิดความรักความพอใจนั้นขึ้นได้อีก

    - คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกกาล หยาบคาย ไม่มีประโยชน์ ประกอบด้วยโทสะ ให้เราทำจิตให้เหมือนแผ่นดิน ต่อให้ใครจะขุดดินให้ไม่เป็นแผ่นดิน ยังไงก็ยังเป็นแผ่นดินอยู่ดี หรือทำจิตให้เหมือนแม่น้ำคงคา ใครจะมาเผาให้น้ำในแม่น้ำเดือด ก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำจิตให้เหมือนอากาศ ใครจะเอาสีมาวาดรูปให้เกิดขึ้นในอากาศ ก็จะทำไม่ได้ หากเราทำจิตได้อย่างนี้ ไม่ว่าใครจะด่าว่าชมเชยเรา เราก็จะไม่หวั่นไหวไปตามคำด่าคำชมนั้น

    Q4: นั่งสมาธิอย่างไรให้ไม่ทรมาน

    A: การนั่งสมาธิเป็นการทำความเพียร ต้องเจอทุกขเวทนาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่การทำทุกรกิริยา แต่เป็นการทำตามสายกลาง เพื่อให้จิตได้รับการฝึก เป็นการอยู่ลำบากแต่เกิดกุศลธรรม และต้องมีสติ มีปัญญา มีการจดจ่อ ถ้าเราตริตรึกไปเรื่องไหน จิตเราก็จะน้อมไปในเรื่องนั้น จิตเราน้อมไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง จึงให้เราตริตรึกไปในช่วงที่เราทำสมาธิได้ อย่าตริตรึกไปในช่วงที่ทำสมาธิไม่ได้ ส่วนที่เราทำสมาธิได้ก็จะมีพลัง



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 21 Jul 2024 - 54min
  • 299 - สุขภาพใจที่ดี มีชัยไปเกินครึ่ง [6729-1u]

    ช่วงไต่ตามทาง: สุขภาพใจไม่ดี เพราะโรคซึมเศร้า

    - ท่านผู้ฟังท่านนี้เป็นโรคซึมเศร้า มีกัลยาณมิตรที่ดีแนะนำให้ฝึกสติอยู่กับตัวเอง รู้ทันอารมณ์ ก็ตั้งสติ สังเกตอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เศร้า ไม่พอใจ โกรธ เหงา ขี้เกียจ เป็นต้น มีจดบันทึกไว้บ้าง ทำอยู่ประมาณ 6–12 เดือน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อารมณ์เหล่านั้นอ่อนแรงลง ความซึมเศร้าลดลงเรื่อย ๆ มีการพัฒนาอุปนิสัยใหม่ มีกิจกรรมใหม่ในทางที่ดีขึ้น ฟื้นฟูจากโรคซึมเศร้า สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

    - “เมื่อเราตริตรึกไปทางไหน จิตเราจะน้อมไปทางนั้น จิตเราน้อมไปทางไหน สิ่งนั้นจะมีพลัง หากเราไม่ตริตรึกไปทางไหน จิตเราก็จะไม่น้อมไปทางนั้น จิตเราไม่น้อมไปทางไหน สิ่งนั้นก็จะอ่อนกำลัง” ดังนั้น การที่เรามีสติ สังเกตเห็นอารมณ์ตัวเองได้ จะทำให้จิตที่จะคล้อยไปตามอารมณ์นั้นเบาบางลง จิตที่จะเพลินไปตามอารมณ์ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน โกรธ ไม่พอใจ ยินดี ลุ่มหลง นั้น จะอ่อนแรงลง เพราะ สติตั้งอยู่ตรงไหน ความเพลินจะอ่อนกำลังโดยอัตโนมัติทันที

    ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ:สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง จริงหรือไม่

    - “สุขภาพดี” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารที่ย่อยได้อย่างสม่ำเสมอ พอปานกลาง ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน พอควรแก่การทำความเพียร

    - หากมีโรคมาก ก็จะมีเวทนามาก ชีวิตก็จะไม่ยืนยาว เวทนานั้นปรับตามอาพาธ อาพาธปรับตามธาตุไฟ (ความร้อน ความเย็น การเผาไหม้ ในร่างกาย) ถ้าธาตุไฟไม่สมดุล ไม่สม่ำเสมอ ร้อนเกินไปบ้าง เย็นเกินไปบ้าง ก็เป็นอาพาธ

    - การกินอาหาร ร่างกายต้องใช้ความร้อนในการย่อย ความร้อนนี้เป็นอันเดียวกับความร้อนที่ทำให้แก่ การกินมากไปทำให้แก่เร็ว เพราะเกิดการเผาไหม้ในร่างกายมาก แต่จะไม่กินอาหารเลยก็ไม่ได้ จึงต้องกินแต่พอดี พระพุทธเจ้าจึงสอนหลักเรื่อง “โภชเน มัตตัญญุตา” คือ กินพอประมาณ ให้มีธาตุไฟสม่ำเสมอ ให้มีเวทนาเบาบาง จะแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน

    ผล 3 ประการของการมีสุขภาพกายที่ดี ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า :

    1. สุขภาพกายดี เป็นองค์ประกอบ 1 ใน 5 ขององค์แห่งผู้สมควรประกอบความเพียร (ปธานิยังคะ)

    - คนที่จะทำความเพียรให้เกิดผลสำเร็จได้ มีเหตุ 5 ประการ คือ

    (1) มีศรัทธา-มั่นใจในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    (2) มีอาพาธน้อย-มีธาตุสม่ำเสมอ

    (3) ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา-เปิดเผยความผิดตัวเอง แก้ไขปรับปรุงตัว รับฟังคำเตือนด้วยความเคารพหนักแน่น

    (4) เป็นผู้ปรารภความเพียร-ไม่ทอดทิ้งธุระ ละสิ่งที่เป็นอกุศล เพิ่มสิ่งที่เป็นกุศล

    (5) มีปัญญา-เห็นความเกิดขึ้น ดับไป สังเกตสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ

    2. การยึดถือร่างกายที่มีสุขภาพดี จะคลายความยึดถือได้ง่ายกว่าการยึดถือทางใจ

    - มนุษย์ประกอบด้วยกายและใจ กายคือรูป ใจคือนาม สิ่งที่เป็นนามทั้งหลาย มีธรรมชาติเกิดขึ้น ดับไป ดับไป เกิดขึ้น ตลอดวันตลอดคืน การเห็นความเสื่อมสลายไม่ชัดเจน ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจึงทำได้ยาก ส่วนกาย จะดำรงอยู่กี่ปี ก็เปลี่ยนแปลงไป เสื่อมถอย แตกสลายไป ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ง่ายกว่าใจ การคลายความยึดถือในกายจะทำได้ง่ายกว่า

    3. การเห็นกายในกาย-เป็นหนึ่งในสติปัฏฐาน 4

    - การเห็นกายในกาย คือ พิจารณาให้เห็นกาย (ที่มีสุขภาพดี) นี้ โดยความเป็นของไม่สวยงาม เป็นของปฏิกูล เป็นอสุภะ หรือ พิจารณาลมเข้า-ออก หรือ พิจารณาอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะ

    - เราใช้ผลของการมีสุขภาพกายที่ดีเพื่อชนะกิเลส โดยพิจารณากายในกาย ตั้งสติปัฏฐาน 4


    โดยสรุป: หากเรามีสุขภาพกายที่ดี แล้วได้ผล 1 ใน 3 ส่วนข้างต้น ก็จะได้ผลอย่างอื่นตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม แม้สุขภาพกายไม่ดี เช่น พระพุทธเจ้า สุขภาพไม่ดีเนื่องมาจากการทำทุกรกิริยา ก็ยังมีสุขภาพใจที่ดี สามารถบรรลุธรรมได้ หรือ คนป่วยแต่มีสุขภาพใจที่ดี ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มีกำลังใจสูงก็มี

    - ดังนั้น คำว่า “สุขภาพดี” ควรเน้นมาทางด้านจิตใจ ทางกายมีส่วนอยู่ 30% ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเรื่องของใจ ถ้าเรารักษาจิตใจได้อย่างดี มีชัยเกินครึ่งแน่นอน ส่วนกายจะเป็นอย่างไรก็ดูแลประคบประหงมไป ความเข้าใจนี้เป็นปัญญา เป็นความรู้ให้เกิดสิ่งที่เป็นความสุขกายสุขใจ ขอให้เกิดสุขภาพดีทางกาย สุขภาพดีทางใจต่อไป



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 14 Jul 2024 - 1h 00min
  • 298 - วิธีรับมือมิจฉาชีพออนไลน์ [6728-1u]

    Q1: วิธีรับมือมิจฉาชีพออนไลน์

    A: คนที่ตั้งใจหลอกลวงเอาทรัพย์ผู้อื่น เป็นการเบียดเบียน เป็นบาป

    เมื่อเจอคนไม่ดี

    1. ต้องมี “สติสัมปชัญญะ”: ไม่คล้อยไปตามเสียง รูป คำพูดของเขา

    2. ต้อง “โยนิโสมนสิการ”: ใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยแยบคาย รอบคอบ คิดเป็นระบบว่า

    - อะไรที่จะได้มาโดยง่ายไม่มี - ความสุข ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก โดยลำบาก

    - สิ่งที่ได้รับฟังมา ทนต่อการเพ่งพิสูจน์หรือไม่ - หากเราโดนหลอกครั้งแรก ก็อย่าให้โดนหลอกอีกในครั้งต่อไป

    - แม้ถูกหลอกไปแล้ว ก็ไม่ต้องเสียใจ คนที่หลอกจะได้รับผลไม่ดีอย่างแน่นอน แต่ตัวเราต้องไม่ทำสิ่งไม่ดีต่อ เช่น เสียใจ เศร้าโศก เป็นอกุศลกรรม เงินทองเป็นของนอกกาย หาใหม่ได้ หากเรายังมีจิตใจ มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้เกิดความเข้าใจ มีความกรุณา อุเบกขา ได้ ให้เรามีอุเบกขา อย่าไปคิดโกรธเคือง จะเป็นบาปแก่เรา


    Q2: การโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์กระทบผู้อื่น

    A: กรรมทางใจ (มโนกรรม) สำคัญกว่ากรรมทางกาย (กายกรรม)

    - ถ้าเราเจตนาโพสต์ให้กระทบคนอื่น ก็เป็นมโนกรรม

    - หากเขาทำไม่ดี ความไม่ดีของเขา เคลือบคลานมาถึงตัวเราแล้ว เราก็ไม่ควรทำไม่ดีตอบ ให้ใช้ “อุเบกขา” เพื่อแก้การผูกเวร

    - การโพสต์ข้อความในโลกออนไลน์ แม้ไม่มีเจตนาให้กระทบผู้อื่น แต่การเบียดเบียนเกิดขึ้นแล้ว มีกรรมเกิดขึ้นแล้ว มีบาปเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ผิดศีลเพราะว่าไม่มีเจตนา เมื่อไม่ผิดศีลแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะความร้อนใจควรจะเกิดขึ้นจากการผิดศีล เปรียบเทียบกับ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนธรรมะ ก็มีผู้ที่ไม่ชอบใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดความขัดเคืองใจ การเบียดเบียนเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นการเบียดเบียนความชั่วด้วยความดี มีลักษณะขูดเกลา บีบคั้นความชั่ว ให้เห็นว่า ความขัดเคืองที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความดีที่จะเกิดขึ้นกับเขามันมีมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ การบอกสอนเขาย่อมดีกว่า

    Q3: ทำอย่างไรให้ผาสุกได้ในทุกสถานการณ์

    A: ในสถานการณ์ที่เป็นทุกข์ เรายังผาสุกอยู่ได้ หากมีองค์ประกอบอันประเสริฐ 8 อย่าง (มรรค 8), ศีล สมาธิ ปัญญา, สมาธิ วิปัสสนา หรือสติสัมปชัญญะ

    - การฝึกสติ สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งฝึกบ่อยๆ สติสัมปชัญญะก็จะมีกำลังขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะสามารถไปถึงสุขที่เหนือกว่าสุขเวทนาได้

    Q4: การบวชทดแทนคุณพ่อแม่

    A: เมื่อลูกบวช ปฏิบัติดี ก็จะเป็นบุญกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่จะมีความสบายใจ จิตใจก็ไปสวรรค์ได้

    Q5: สมาธิขั้นใด เป็นที่สุดในทางพุทธศาสนา

    A: ระดับของความสุข มี 10 ขั้น

    1) ความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    2) ความสุขที่เกิดจากฌาน 1 (ปฐมฌาน)

    3) ความสุขที่เกิดจากฌาน 2 (ทุติยฌาน)

    4) ความสุขที่เกิดจากฌาน 3 (ตติยฌาน)

    5) ความสุขที่เกิดจากฌาน 4 (จตุตถฌาน)

    6) อากาสานัญจายตนะ (รูปสัญญาดับ)

    7) วิญญาณัญจายตนะ (อากาสานัญจายตนะดับ)

    8) อากิญจัญญายตนะ (วิญญาณัญจายตนะดับ)

    9) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อากิญจัญญายตนะดับ)

    10) สัญญาเวทยิตนิโรธ (สัญญาและเวทนาดับ) เป็นสมาธิขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนา

    - แต่สมาธิขั้น 2-10 เป็นฐานในการบรรลุพระนิพพานได้ทุกขั้น ขั้นที่ 2 ก็ทำให้เกิดปัญญาได้แล้ว ซึ่งปัญญาเป็นที่สุดในทางพุทธศาสนา



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 07 Jul 2024 - 54min
  • 297 - คลายความอิจฉาด้วยพรหมวิหาร 4 [6727-1u]

    ช่วงไต่ตามทาง: อดทน คือ ทุกสิ่ง

    - ผู้ฟังจาก กทม.-เป็นเด็กกำพร้า ถูกกระทำ และถูกต่อว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความอดทนทำให้ผ่านเหตุการณ์ทุกอย่างมาได้ จึงเข้าใจดีว่า ความอดทนเป็นทุกสิ่ง และยังเข้าใจอีกว่า การไม่ตอบโต้ ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เป็นเพราะความอดทน ซึ่งเป็นปัญญา แยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนเป็นกุศล สิ่งไหนเป็นอกุศล ปัจจุบันมีชีวิตที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ

    - ผู้ฟังจากฉะเชิงเทรา-เมื่อได้ฟังธรรมะ ทำให้เข้าใจว่า การรบที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ การชนะกิเลสในจิตใจตนเอง เป็นชัยชนะที่ไม่ต้องออกรบ การอดทน ไม่ใช่เรื่องโง่ เป็นชัยชนะที่ใครก็เอาไปจากเราไม่ได้

    ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: ความอิจฉาในที่ทำงาน

    - อารมณ์ 3 ประเภท 1. อิจฉาริษยา 2. เย่อหยิ่งจองหอง 3. ความตระหนี่หวงกั้น มีความเกี่ยวข้องกัน

    ตัวอย่าง 1 เมื่อเราได้เลื่อนตำแหน่ง ได้ดีกว่าคนอื่น เราจะมีความเย่อหยิ่งเกิดขึ้น ส่วนเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ ก็จะมีความอิจฉาริษยาเราขึ้นมา

    ตัวอย่าง 2 เรามีรถ ส่วนเพื่อนไม่มี ต่อมาเพื่อนมีรถเหมือนกับเรา เราเกิดความไม่พอใจ อิจฉาริษยาเขา ทั้งที่เราไม่ได้มีน้อยลง แต่ไม่อยากให้เขามี อย่างนี้เป็นความตระหนี่เกิดขึ้น

    - ความดีต่อความดีได้ ความชั่วต่อความชั่วได้ เปรียบกับการต่อเทียน-เทียนที่สว่าง แต่อยู่แวดล้อมไปด้วยเทียนที่ไม่สว่าง (พวกอวิชชาทั้งหลาย) บริเวณนั้นก็จะมืดลง มิตรที่ดี (กัลยาณมิตร) เมื่อต่อความดีกัน ความดีก็จะต่อกันไปอีกเรื่อย ๆ มากขึ้น สว่างขึ้น ส่วนมิตรไม่ดี (ปาปมิตร) ก็จะส่งต่อความไม่ดีมาให้ แม้ว่าตัวเราจะมีแสงสว่าง แต่ถ้ารอบ ๆ ไม่ดี มีแต่ความมืด ความมืดนั้นก็โดนเราบ้าง เราก็ได้รับการเบียดเบียนบ้าง

    - การไม่คบคนพาล จึงเป็นมงคลข้อแรกในมงคลสูตร มงคลข้อต่อมา คือ ให้คบบัณฑิต คือ ให้คบกัลยาณมิตร มีความฉลาด มีความรอบรู้ มีปัญญาเห็นตามความจริง เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นกุศลให้ทำ สิ่งใดเป็นอกุศลไม่ทำ หากเราอยู่ใกล้บัณฑิต เราก็จะต่อความดีนั้นมาได้

    - ไม่ว่าเขาจะดีหรือไม่ดีกับเราก็ตาม “ให้มองกันด้วยสายตาแห่งคนที่รักใคร่กันเป็นอยู่ ไม่มองใครโดยความเป็นศัตรูเลย”

    - หากเรามองใครว่าเป็นศัตรู การผูกเวรจะเกิดขึ้นทันที เป็นข้าศึกต่อกุศลธรรม

    - ที่ถูก คือ ให้เราเห็นสิ่งที่เป็นอกุศลธรรมโดยความเป็นข้าศึกศัตรู อย่าเห็นบุคคล เป็นข้าศึกศัตรู

    - วิธีพิจารณาต่อเพื่อนร่วมงานที่มีอกุศลธรรม คือ คนเราไม่ได้มีดีหรือมีชั่วโดยส่วนเดียว อย่าไปตั้งจิตเป็นศัตรูกับบุคคล แต่ให้ตั้งจิตเป็นข้าศึกศัตรูกับสิ่งที่เป็นอกุศลธรรม แล้วพิจารณาบุคคลนั้นว่า สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเขาอยู่ตอนนี้ ถ้าเขาทำต่อไปก็จะมีอกุศลธรรมความไม่ดีเกิดขึ้นกับเขามากขึ้น ถ้าเราไม่ลำบากอาจจะชี้แจงทำความเข้าใจกับเขาให้เขาคลายความอิจฉาลง (เมตตากรุณา) แต่ถ้าเราทำแล้ว เขาไม่พอใจมากขึ้น ให้เราพิจารณาต่อไปว่า ความขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นมันเล็กน้อย ถ้าเขารู้ความจริง เข้าใจธรรมะในส่วนนี้ เขาจะออกจากอกุศลธรรมเหล่านั้นได้ ประโยชน์ของการดำรงอยู่ในกุศลธรรมความดีมันสำคัญกว่า เป็นเรื่องใหญ่กว่า ให้ทำความเข้าใจกับเขาอย่างนี้ (มุทิตา) ถ้าเขายังเปลี่ยนไม่ได้อีก เราก็ต้องตั้งจิตไว้ในอุเบกขา

    - เมื่อความอิจฉา อยู่ในวงจรของกาม (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) สิ่งที่เหนือกว่ากาม จิตใจต้องเป็นแบบพรหม (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) พรหมวิหาร 4 จะทำให้เราจะชนะทั้งจิตใจตนเอง และจิตใจของผู้อื่นได้

    - มิตรที่ควรคบ 7 ประการ คือ ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก อดทนถ้อยคำที่อดทนได้ยาก เปิดเผยความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน ไม่ทอดทิ้งในยามอันตราย เมื่อเพื่อนสิ้นโภคทรัพย์ก็ไม่ดูหมิ่น

    - ให้ตั้งจิตของเราต่อเพื่อนร่วมงานแบบนี้ ก็จะทำให้จิตใจของเรามีความสบาย อยู่ได้อย่างผาสุก



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 30 Jun 2024 - 1h 01min
  • 296 - ความอดทน vs การนิ่งเฉย [6726-1u]

    Q1: วิธีทำให้สติอยู่เหนืออารมณ์

    A: พระพุทธเจ้าแบ่งไว้ 3 ระดับ

    1) สัตว์เดรัจฉาน: ทำตามอารมณ์ ไม่สนใจผิดชอบชั่วดี

    2) มนุษย์: มนุษย์ที่มีพฤติกรรมแบบสัตว์เดรัจฉาน มีการผิดศีล ทำตามความพอใจ หรืออารมณ์ของตนเป็นหลัก ไม่สนใจว่าอะไรถูกหรือผิด และมนุษย์ที่มีศีล “ศีล” คือ ความปกติของความเป็นมนุษย์ แม้จะมีอารมณ์ขึ้น-ลงอยู่บ้าง ก็ไม่ผิดศีล

    3) เหนือมนุษย์: จิตใจมั่นคง ไม่โกรธ มีเมตตา อุเบกขา อยู่ตลอดเวลา เป็นจิตใจเทวดา เหนือมนุษย์ (อุตตริมนุสสธรรม)

    - ธรรมะที่ทำให้เป็นคนเหนือคน

    1) รักษาศีล 5-ทางกาย ทางวาจา

    2) มีสติสัมปชัญญะ-รู้ผิดชอบชั่วดี

    3) ทำศีล-สติ ให้ละเอียดและมีกำลังมากขึ้น-เพื่อเอาไปใช้ทางด้านจิตใจ ทำให้แยกอารมณ์ออกจากจิตใจได้ จิตจะมีความเข้มแข็งขึ้น

    - คนที่รู้ตัวว่าจิตใจกำลังแปรปรวน นั่นคือ มีสติแล้ว รู้ตัวแล้ว หากฝึกให้มีสติบ่อย ๆ สติก็จะมีกำลังมากขึ้น

    Q2: การนิ่งเฉย VS ความอดทน

    A: คนอื่นคิดอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราคิดอย่างไร ไม่ควรให้น้ำหนักกับคำพูดของคนอื่น แต่ให้น้ำหนักกับความคิดหรือสภาวะจิตของเราจะดีกว่า เช่น เมื่อถูกคนอื่นบอกว่าเราเป็นคนโง่ แต่เรารู้ตัวเองว่าเราไม่ได้โง่ เรากำลังมีความอดทนอยู่ ความอดทนนี้เป็นปัญญา เราเป็นผู้มีปัญญา ดังนั้น คำกล่าวหาว่าเราโง่ จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีน้ำหนักเลย อย่างไรก็ตาม เราต้องทบทวนตัวเองด้วยว่าเรามีข้อบกพร่องจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องแก้ไข

    - เราต้องอาศัยความอดทนต่อผัสสะที่ไม่น่าพอใจ จึงจะสามารถรักษากุศลธรรมให้เกิดขึ้นได้ ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้น จึงจะถือเป็นกำไรที่เกิดมาในโลก

    Q3: จดจำบุญที่เคยทำไว้ไม่ได้

    A: ความจำมี 2 ส่วน คือ สติ และความระลึกได้ ความระลึกได้เรียกว่าสติ ถ้านึกถึงเรื่องไม่ดี ก็เป็นมิจฉาสติ ถ้านึกถึงเรื่องดี ก็เป็นสัมมาสติ การกระทำอะไรลงไปก็ตาม ไม่ว่าด้วยกาย วาจา ใจ การกระทำนั้นจะทิ้งร่องรอยเอาไว้แน่นอน จิตของเราก็เช่นกัน ไม่ว่าทำอะไรด้วยกาย วาจา ใจ ก็จะทิ้งร่องรอยไว้ ร่องรอยนั้นเป็นบารมี เป็นอาสวะที่สะสมไว้ในจิตของเรา จนกลายออกมาเป็นนิสัยของเรา

    - ให้ชำระอาสวะที่มีอยู่ในจิต ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เดินทางสายกลาง ปฏิบัติตามมรรค 8 จะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือบุญ เหนือบาปได้ แต่ก่อนที่จะอยู่เหนือบุญ เหนือบาปได้ ก็ต้องมาทางบุญก่อน


    Q4: การกรวดน้ำอุทิศบุญกุศล

    A: สิ่งที่สำคัญ คือ “การตั้งจิต” ว่าจะอุทิศส่วนบุญกุศลให้ ส่วนบทสวดมนต์กรวดน้ำ เป็นรูปแบบที่ครูบาอาจารย์คิดขึ้นมาเพื่อให้เราสามารถตั้งจิตขึ้นได้

    Q5: พิธีลอยอังคาร

    A: แม้ไม่มีสิ่งที่จับต้องได้เหลืออยู่ การระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ให้นึกถึงคุณความดี ระลึกถึงได้โดย “ตั้งจิต” ระลึกถึง



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 23 Jun 2024 - 55min
Weitere Folgen anzeigen

Podcasts ähnlich wie 1 สมการชีวิต